วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คนเก็บขี้ค้างคาว


บ้านถ้ำผาตอง หมู่ที่ 6 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ถ้ำผาตอง บ้านถ้ำผาตอง ตำบลท่าสุด จากตัวเมืองเชียงรายไปตามถนนเชียงราย-แม่จัน 19 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 848 หน้าวัดแม่ข้าวต้มท่าสุด ไปอีก 3 กิโลเมตร นอกจากถ้ำผาตองแล้วยังมีถ้ำสายธาร ถ้ำแม่ครัว จุดน่าสนใจคือ กลุ่มแกะสลักไม้กระบวยตักน้ำกะลามะพร้าว มีด้ามไม้สักแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ ที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านงานแกะสลักไม้พื้นบ้าน การคมนาคมในพื้นที่มีความสะดวกสบาย เกษตรกรสามารถทำนาข้าวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชสลับหมุนเวียนกับการทำนาข้าว
ขี้ค้างคาวประกอบไปด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่สูงกว่ามูลของสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรในการนำมาเป็นส่วนผสมในดินเพื่อใช้ในการปลูกพืชทำการเกษตร ปัจจุบันขี้ค้างคาวเริ่มหายาก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม และความต้องการสำหรับการใช้ขี้ค้างคาวมีปริมาณที่สูงขึ้น ขี้ค้างคาวจึงเป็นปุ๋ยที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีแหล่งเก็บขี้ค้างคาว การเก็บขี้ค้างคาว จะต้องไปเก็บในถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ ซึ่งในสภาพพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่บางส่วนเป็นภูเขาหินสูง เช่นในพื้นที่ อำเภอเวียงชัย อันเป็นที่รู้จักกันดีที่ตำบลผางาม อำเภอแม่สาย อำเภอพานบ้างเล็กน้อย และในเขตอำเภอเมืองที่ตำบลท่าสุด บ้านถ้ำผาตอง ทำให้ในวันนี้ทางทีมงานฯจึงได้เดินตามรอยของเกษตรกรผู้เก็บขี้ค้างคาว ณ บ้านถ้ำผาตอง หมู่ที่ 6 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ที่นี่เราได้พบกับคุณสี ปัญญาธรรม เกษตรกรผู้เก็บขี้ค้างคาวมานานกว่า 20 ปี วันนี้คุณสีจะพาทีมงานได้ไปสัมผัสกับชีวิตจริงของคนเก็บขี้ค้างคาว

คุณสี เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า หมู่บ้านถ้ำผาตอง มีภูเขาหินที่พาดผ่านระหว่างอำเภอเมืองที่บ้านถ้ำผาตอง ยาวไปถึงเขตพื้นที่ของบ้านป่าคา อำเภอแม่จัน ในระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถ้ำผาตอง มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ผาตอง หรือเรียกง่ายๆว่า ผาทอง มีถ้ำที่ถูกค้นพบแล้วและยังไม่ค้นพบอีกรวมจำนวนมากกว่า 100 ถ้ำ ทุกๆถ้ำจะพบว่ามีค้างคาวหลายชนิดอาศัยอยู่หลายพันตัว โดยที่ถ้ำผาตองจะมีวัดที่ชื่อว่า วัดถ้ำผาตอง เดิมมีตำนานเล่าขานว่ามีชาวบ้าน พบพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 20 นิ้ว อยู่ในถ้ำแห่งนี้ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเจ้าป่าเจ้าเขาที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้ บ่อยครั้งที่คนเก็บขี้ค้างคาวได้เคยพบ แต่สำหรับคุณสีเอง เชื่อว่า นี่คือผู้ปกป้องรักษาขุนเขา และดูแลปกปักรักษาคนในหมู่บ้านถ้ำผาตองให้อยู่ดีกินดี ค้างคาว ที่คุณสีพบในปัจจุบันจะมี 2 ชนิด คือ ชนิดกินพืช และชนิดกินแมลง

ขี้ค้างคาวกินแมลง ลักษณะจะจับตัวเป็นก้อนและถ้าแห้งแล้วจะเป็นผง อย่างสังเกตเห็นได้ชัด ขี้ค้างคาวชนิดนี้เป็นที่นิยมในการนำมาทำปุ๋ยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่สูงกว่า ค้างคาวชนิดนี้เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์ ชาวบ้านไม่นิยมนำมาเป็นอาหาร
ขี้ค้างคาวกินพืช ลักษณะค้างคาวชนิดนี้จะกินผลไม้ กล้วย ลำไย และไม้ผลอื่นๆ และพวกมันจะถ่ายเหลวไม่จับตัวเป็นก้อน การเก็บจะเก็บเฉพาะขี้ค้างคาวที่แห้งเท่านั้น ไม่นิยมในการนำมาทำปุ๋ย ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาทุบให้แหลกแล้วนำไปผสมกับขี้ค้างคาวกินแมลง ค้างคาวชนิดนี้ตัวใหญ่ เช่น ค้างคาวหน้าวัว ค้างคาวหูขาว ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นอาหาร


ปัจจุบันคุณสี อายุมากแล้ว การเก็บขี้ค้างคาวจึงทำได้ไม่ค่อยบ่อยนัก ไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน คุณสีจะขึ้นไปเก็บขี้ค้างคาวทุกวัน การเก็บขี้ค้างคาวของคุณสี จะเดินทางไปพร้อมกับเพื่อนบ้าน 4-5 คน สามารถเก็บได้ทุกฤดู ยกเว้นช่วงหน้าฝนจะมีปัญหาเรื่องชื้นแฉะในถ้ำมีน้ำท่วมขังมาก การเก็บขี้ค้างคาวจะต้องเตรียมอุปกรณ์คือ ไฟฉาย กระสอบฟาง และไม้กวาดทางมะพร้าวขนาดเล็ก ไม้ขีดไฟ บันไดขึ้นถ้ำ ถ้ำที่มีค้างคาวจะต้องเป็นถ้ำที่กว้างและลึกมีเพดานด้านบนสูง ค้างคาวจะมาพักผ่อนบนเพดานถ้ำและถ่ายมูลลงมาข้างล่าง บางถ้ำสามารถเก็บขี้ค้างคาวได้มากถึง 100 ปีบ (1 ปีบหนัก 8 กิโลกรัม) ราคาขายปัจจุบันปีบละ 140 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามผู้นำชุมชนได้สั่งห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกมาเก็บขี้ค้างคาวเพื่อนำไปขาย แต่สามารถเข้ามาเอาขี้ค้างคาวได้ในจำนวนไม่มากเพื่อการนำไปใส่ผักสวนครัวของตนเองได้ ส่วนบุคคลในบ้านถ้ำผาตองสามารถที่จะนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือนได้
ที่วัดถ้ำผาตองมีถ้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในบริเวณวัด เป็นเหมือนเขตอภัยทาน ถ้าบุคคลใดเข้าไปเก็บขี้ค้างคาวจะต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน การเก็บขี้ค้างคาวจะต้องเก็บไปเฉพาะพอใช้ ไม่สนับสนุนให้เก็บไปขาย คุณสีบอกว่า เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่นอกจากจะเก็บขี้ค้างคาวแล้ว ยังใช้ไฟมาจุดเผาในถ้ำเพื่อเอาค้างคาวไปขายด้วย เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ค้างคาวบางถ้ำต้องหนีไปอยู่ที่อื่น และหนีมาอยู่ที่วัดแห่งนี้

คุณสี ได้เล่าให้ทางทีมงานฯเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากขี้ค้างคาว ว่า คนในชุมชนสวนใหญ่จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการปลูกพืช เพราะพืชผักที่นี่อุดมสมบูรณ์ชาวบ้านใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวเป็นประจำ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวในนาข้าว มีสูตรในการทำดังนี้
ขี้ค้างคาวแห้ง 3 ปีบ (24 กิโลกรัม)
ปุ๋ยสูตร16-20-0 จำนวน 1 ลูก
วิธีทำและการนำไปใช้ - รดน้ำปุ๋ยเคมีให้พอชุ่ม หมักรวมกันกับขี้ค้างคาวรวมกัน 3 คืนในถัง ใช้หว่านนาข้าวที่มีอายุ 45 วัน จำนวน 10 กิโลกรัมต่อ 1ไร่ เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีแล้วจะต้องใส่ 15-20 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ แต่อย่าใส่ในจำนวนที่มากกว่านี้ เนื่องจากต้นข้าวจะงาม สูงเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยว ปุ๋ยขี้ค้างคาวจะช่วยบำรุงต้น และเมล็ด ช่วยให้ได้ผลผลิตดี ลดต้นทุนในการผลิต
การใช้ขี้ค้างคาว กับผักสวนครัว ขี้ค้างคาว เป็นปุ๋ยเข้มข้น ถ้าใช้ปริมาณมากจะส่งผลทำให้ผักสวนครัวเสียหายได้ การใช้ขี้ค้างคาวในแปลงผักสวนครัว สามารถทำได้ ดังนี้
ขี้ค้างคาวแห้ง 1 ส่วน
ปุ๋ยคอก 1 ส่วน


วิธีทำและวิธีใช้- ผสมขี้ค้างคาวและปุ๋ยคอกให้เข้ากัน จากนั้นนำหว่านลงแปลงผักสวนครัวก่อนทำการลงแปลงปลูกให้ทั่ว รดน้ำบนแปลงทุกวัน เช้าและเย็น ให้พอชุ่ม 4-5 วัน จากนั้นพอครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถนำกล้าผักลงปลูกในแปลงได้
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ขี้ค้างคาว กับผักสวนครัว - ถ้าเป็นผักสวนครัวประเภทพริก การใส่ขี้ค้างคาวไม่ควรใส่มากกว่า ครึ่ง กำมือ เพราะถ้าใส่มาก พริกจะเหี่ยวแห้งตาย
- ระวังอย่านำขี้ค้างคาวไปใส่ผักสวนครัวประเภท ผักสาระแหน่ ผักชี ฟักทอง และมะเขือเทศ เพราะจะทำให้ผักสวนชนิดดังกล่าวแห้งตาย

พาไปดูโครงการไข่สดไอโอดีน

หน้าที่หลักในแต่ละวันในการทำงานของผม คือการลงพื้นที่พบเกษตรกร รวมรวมข้อมูลปราชญ์ชาวบ้าน ค้นหาภูมิปัญญาทางด้านการเกษตร ทั้งในพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อการเผยแพร่ ซึ่งข้อมูลที่ได้ทั้งหมดนำส่งบริษัทฯเพื่อเข้าสู่กระบวนการเผยแพร่ ต่อไป....อีกด้านหนึ่ง ผมเองอยากรวบรวมข่าวสาร เรื่องเล่า เก็บตก ข้อมูลที่เกษตรกรอยากบอกต่อ ทั้งหมดจากการที่ได้ลงพื้นที่ตลอดระยะเวลา กว่า 3 ปีให้ทุกท่านได้ทราบและบอกต่อเพื่อเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ข้อมูล บางอย่างท่านอาจทราบดี บางข้อมูลท่านอาจจะยังไม่เคยได้สัมผัส......ท่านจะได้พบกับ เรื่องเล่า ความรู้ ผลิตผล ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ที่ท่านเอง สามารถเข้าใจ ทำได้ เข้าถึง สัมผัสได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง ที่นี่...แน่นอน


***********************


โครงการไข่สดไอโอดีน
บ้านสันต้นผึ้ง หมู่ที่ 7 ตำบลม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงราย ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบ และที่ราบสูงบางส่วน หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตไข่สดเสริมไอโอดีน เป็นไข่ไก่สด แล้วผ่านกรรมวิธีใช้สารไอโอดีนเข้าไปผสมอยู่ในไข่ไก่ โดยที่ไข่ไก่ยังสดและมีสภาพเหมือนเดิม อาชีพหลัก การเกษตร คือ ทำนาข้าวเหนียว เป็นส่วนใหญ่ เพื่อบริโภคในครัวเรือน ทำไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วลิสง เพื่อจำหน่ายให้โรงงาน ทำสวนผลไม้ เช่น ลำไย ลิ้นจี่ สับปะรด เป็นต้น เลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่เป็นสุกร ฟาร์มไก่ โค ประมง มีการเลี้ยงปลาในกระชัง ในสระส่วนตัว และเลี้ยงตามฤดูกาล การคมนาคมในชุมชนมีความสะดวกสบายมีไฟฟ้าใช้และมีน้ำประปาทุกครัวเรือน ประกรอยู่กันแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันในชุมชน มีกิจกรมทางสังคมร่วมกัน มีวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน มีโรงเรียนประจำหมู่บ้านชื่อโรงเรียนบ้านสันต้นผึ้ง ระดับอนุบาล- ประถมศึกษาปีที่ 6
ไข่ อาหารโปรตีน อยู่คู่ครัวไทยมานาน เป็นอาหารสำหรับคนทุกชนชั้น หาซื้อได้ง่ายตามตลาดทั่วไป ไข่ นอกจากเป็นอาหารแล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล ทั้งในเรื่องของการแปรรูปตลอดจนนำไปใช้เป็นส่วนประกอบต่างๆของอาหารให้เป็นที่นิยมในการบริโภคเป็นการสร้างมูลค่าให้กับไข่สดๆได้ ซึ่งเกษตรกรทั่วไปนิยมบริโภคไข่กันอยู่แล้ว แต่ถ้ามีผู้คิดค้นให้ไข่สดธรรมดาๆสามารถมีความแปลกใหม่และมีประโยชน์เพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงความสดสะอาดอยู่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องรอการคิดค้น ซึ่งในขณะนี้ มีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ตำบลม่วงคำ อ.พาน จ.เชียงรายได้ประสบผลสำเร็จแล้ว โดยการทำให้ไข่สดๆเป็นไข่เสริมไอโอดีนจนเป็นที่ยอมรับของสถานพยาบาลและใช้ได้ผลจริงกับเด็กๆในชุมชน ทำให้ในวันนี้ ผมได้เดินทางไปยังพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูลการทำไข่เสริมไอโอดีน เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักและเป็นประโยชน์ต่อบุคคลอื่นๆต่อไป



คุณณี ได้รวมกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขและชาวบ้านทำไข่เสริมไอโอดีน โดยมีทางโรงพยาบาลพานเป็นผู้คิดค้นและสนับสนุนภายใต้โครงการไข่สดไอโอดีน ซึ่งกว่าเวลา 7 ปี แล้วที่ผลิตภัณฑ์ไข่เสริมไอโอดีนได้วางตลาดสู่สายผู้บริโภค คุณณีได้กล่าวถึงโครงการดังกล่าวให้ทีมงานฯได้ศึกษา ว่า โครงการไข่สดไอโอดีน อาหารหลักเสริมไอโอดีน สำหรับพัฒนาสมองเด็ก เกิดขึ้นจากการสำรวจพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กอายุแรกเกิดถึง 5 ปีเต็ม ในหมู่บ้าน พบว่ามีเด็กพัฒนาการล่าช้า อยู่จำนวนหนึ่ง ดังนั้นกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข( อสม.) จึงได้สอบถามวิธีการเลี้ยงลูกและการให้อาหารของแม่ พบว่าเด็กได้รับอาหารที่มีโปรตีนน้อยมากในแต่ละวัน ฉะนั้นเพื่อให้เด็กได้รับอาหารโปรตีนอย่างเพียงพอนั้น ทางอสม.จึงได้ทำโครงการ “ไข่สดเสริมไอโอดีน” โดยโครงการระดมเงินทุนจากชาวบ้านและภาครัฐดำเนินการเมื่อปี 2543 จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากไข่เป็นอาหารที่หาได้ง่าย ในท้องถิ่นและมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเด็กและเสริมสารไอโอดีนเข้าไปด้วย จากการติดตามพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็ก เมื่อ 3 เดือน 6 เดือน และ 9 เดือน จนกระทั่ง 1 ปี พบว่า การเจริญเติบโตทางร่ายกายสมองของเด็กเพิ่มขึ้น มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ ชาวบ้านผู้ปกครองเด็กจึงได้ตระหนักเห็นความสำคัญต่อการเลี้ยงดูและการการเจริญเติบโตของเด็ก ซึ่งโครงการนี้สามารถแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร และปัญหาน้ำหนักเด็กต่ำกว่าเกณฑืได้ จากโรงพยาบาลพาน อ.พาน จ.เชียงรายเป็นผู้สนับสนุน ไอโอดีน
โครงการไข่เสริมไอโอดีนได้รับความสำเร็จจนถึงวันนี้เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของผู้ปกครองเด็ก และของชาวบ้านที่ตระหนักเห็นความสำคัญของการเจริญเติบโตของเด็ก และการสนับสนุนด้านวิชาการ และการดูแลการผลิตคุณภาพผลิตภัณฑ์ ไข่ไอโอดีนอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน ตลอดจนความมุ่งมั่นตระหนักเห็นความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเด็กขาดสารไอโอดีน อสม. ผู้นำและชาวบ้านในหมู่บ้าน
คุณณีได้อธิบายถึงไข่เสริมไอโอดีนว่า ไข่เสริมไอโอดีนสามารถใช้ไข่ได้ทุกชนิด เช่นไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่นกกระทา แต่นิยมใช้ไข่ไก่มากกว่าเนื่องจากมีราคาไม่แพงและเป็นที่นิยมกันมาก ไข่ไก่สด 1 ฟอง เสริมสร้างไอโอดีนได้ประมาณ 150-200 ไมโครกรัม ฉะนั้น ถ้าได้กินไข่สดเสริมไอโอดีนคนละ 1 ฟองต่อวัน ร่างกายเราก็จะได้รับสารไอโอดีนอย่างพียงพอต่อความต้องการ
การทำไข่สดเสริมไอโอดีน
คุณณี เล่าว่า การทำไข่สดเสริมไอโอดีนเป็นเรื่องยากถ้ามีอุปกรณ์ไม่พร้อม ที่สำคัญไข่ที่จะมาทำจะต้องสดจริงๆเพื่อผู้บริโภค มีวิธีขั้นตอนในการทำดังนี้
อุปกรณ์ในการทำไข่สดเสริมไอโอดีน
-ไข่ไก่สด
- ตะกร้าใส่ไข่ 2 ใบ
-ถัง 2 ใบ
- เครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าลักษณะมีสองขั้ว
-ผ้าเช็ด(สำหรับเช็ดทำความสะอาดไข่และมือ)
- หม้อต้มสารไอโอดีน
วิธีทำ
-เริ่มต้นจากการคัดเลือกไข่ไก่เบอร์ที่ใหญ่ที่สุด ต้องเป็นไข่ไก่ที่ใหม่และสด ไม่มีรอยแตกร้าว ทำความสะอาดไข่โดยใช้ผ้าขนหนูหรือผ้าสะอาดเช็ดใบไข่ไก่ให้สะอาด
-เตรียมหม้อต้มโดยละลายใส่ผงดำรงสภาพสารและสารละลายไอโอดีนอย่างละ 1 ช้อน ในน้ำสะอาดใช้น้ำ 10 ลิตร ซึ่งลักษณะสารละลายไอโอดีนจะถูกบรรจุในขวดชนิดผง มีสีเหลือง จากนั้นต้มในน้ำเดือดใช้เวลาต้มให้เดือด 5 นาที ทิ้งไว้ให้เย็น 1 คืน ลักษณะน้ำที่ได้จะมีสีเหลือง
- หลังจาก 1 คืนยกหม้อลงจากเตาใช้เครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าลักษณะมีสองขั้ว ให้ขั้วทั้งสองแช่อยู่ในหม้อในลักษณะตรงกันข้ามกัน เปิดเครื่องแล้วเอาไข่ไก่สดใส่ในตระกร้าแล้วแช่ลงในหม้อดังกล่าวนาน 5 นาทีเครื่องคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะกระตุ้นให้สารไอโอดีนเข้าไปอยู่ในไข่
- จากนั้นนำไข่ที่แช่เสร็จมาลำเลี้ยงล้างน้ำ โดยการแกว่งลงในถัง ให้ผ่าน 2 น้ำ น้ำถังแรกจะพบว่ามีสารไอโอดีนตกตะกอนก้นถัง จึงต้องนำมาผ่านในน้ำอีก 1 ครั้ง จากนั้นแล้วนำไข่ไปเช็ดให้แห้ง ประทับตราไข่แล้วรอจำหน่ายสู่ออกตลาด
- สำหรับน้ำที่ต้มสารไอโอดีน ที่เคยแช่ไข่กับขั้วสนามแม่เหล็ก สามารถนำมาต้มอีกครั้งให้เดือด 5 นาทีแล้วสามารถนำไปใช้ต่อได้

ไข่สดเสริมไอโอดีน ในนามของกลุ่มอสม.คุณณีได้เผยวิธีการทำปัจจุบันมีการผลิตไข่เสริมไอโอดีน2 หมู่บ้าน ได้นำจัดแสดง จำหน่ายทุกงานในชุมชนระดับ หมู่บ้าน ตำบล และระดับอำเภอ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ล่าสุดมีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้สั่งซื้อประจำเพื่อให้คนไข้โรงพยาบาลได้บริโภคเพื่อพักฟื้นไข้และอาการป่วย ราคาที่ขายปัจจุบันอยู่ที่ แผงละ(30 ฟอง) 110 บาท

ประโยชน์และผลสำเร็จของโครงการไข่เสริมไอโอดีน
- ได้สร้างพัฒนาการเจริญเติบโตของเด็กโดยเฉพาะช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 ขวบให้เกิดพัฒนาการที่ร่างกายและสมองที่ดี ส่งผลให้เด็กเมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ เป็นกำลังของประเทศชาติ
- กลุ่มอสม.ชาวบ้านได้แก้ไขปัญหาสุขภาพเด็กได้ด้วยตนเอง
- กลุ่มอสม.ร่วมกับชาวบ้าน ได้ร่วมรณรงค์ให้เด็กกินไข่สดเสริมไอโอดีน คนละ 1 ฟองต่อวัน โดยเฉพาะเด็กเล็ก
- สามารถผลิตและออกจำหน่ายทั้งในหมู่บ้านและบริเวณรอบนอกหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง สามารถผลิตส่งให้โครงการอาหารกลางวันเด็กในโรงเรียน และส่งให้โรงพยาบาลพาน อ.พาน จ.เชียงรายได้
- โครงการนี้ทำเพื่อแก้ปัญหาเด็กขาดสารอาหาร,ไอโอดีนและเพื่อสุขภาพที่ดีของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นโครงการที่เสริมรายได้ให้แก่อสม. ชาวบ้าน รวมไปถึงกิจการเลี้ยงไก่ไข่ของชาวบ้านด้วย
- เป็นการพัฒนาองค์กรสุขภาพอสม. ในหมู่บ้านความเข้มแข็ง สามารถจัดการในปัญหาหลากหลายด้วยตนเอง พึ่งตนเองและยั่งยืนก่อเกิดประโยชน์แก่ประชาชนได้


กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขบ้านสันต้นผึ้งได้แต่งกลอนเชิญชวนให้บริโภคไข่ไอโอดีน เชิญชวนผู้สนใจทั่วไปได้หันมาบริโภคไข่ ดังนี้
ไข่ไอโอดีน กินดี มีประโยชน์
ไม่เป็นโรค คิพอก บอกอีกหน
ไม่เป็นเอ๋อ เซ่อซ่า ช้ากังวล
ไม่เป็นคน ล้าหลัง เหมือนดั่งใคร
ไข่ไอโอดีน กินดี มีคุณค่า
สร้างปัญญา เด็กเด็ก ทั้งเล็กใหญ่
ได้โปรตีน ไอโอดีน ตลอดไป
ด้วยน้ำใจ ไมตรี ขอขอบคุณ




เตาแก๊สชีวมวล สุดยอดฝีมือคนไทย...คุณก็ทำได้

....วันนี้ผมจะพาไปเรียนรู้การผลิตเตาแก๊สชีวมวล สุดยอดฝีมือคนไทย ประหยัด-คุ้มค่า ผลงานของคุณคุณ บัญญัติ จอมใจ และคุณนพดล แก้วก้อ เป็นแกนนำของกลุ่มพลังงานทดแทน บ้านสันทรายยาว เลขที่ 92 หมู่ที่ 12 เทศบาลตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ความรู้ทั้งหมดได้มาจากกระทรวงพลังงานครับ ยินดีเผยแพร่สำหรับผู้สนใจ ลองทำดูได้ครับ ไม่มีลิขสิทธิ์ อยากให้ทุกๆท่านประหยัดค่าใช้จ่าย


เชื้อเพลิงที่ใช้คือแกลบ(เปลือกข้าวที่เหลือจากโรงสี)หาง่ายมากๆในชุมชนครับ ใช้เวลาจุดติดไฟไม่ถึง 3 นาที ประหยัดกว่าการใช้เตาแก๊สทั่วไปที่ต้องเปลืองตังค์เติมแก๊สในถังเป็นประจำ เหมาะสำหรับแม่บ้านที่ต้องหุงต้มเป็นประจำ ไม่มีควัน หม้อไม่ดำ ไฟแรงไม่ต่างกับแก๊สถังทั่วไป (เผลอจะแรงกว่าด้วนซ้ำไป)ใส่เชื้อเพลิง 1 ครั้งสามารถอยู่นานได้เกือบ 3 ชั่วโมง


ปริมาณการใช้ : แกลบ วัสดุธรรมชาติ 1.5 กิโลกรัม ใช้ได้ประมาณ 60 นาที

ลักษณะส่วนประกอบ :
วัสดุทั้งหมดทำขึ้นด้วยเหล็ก มีส่วนประกอบสำคัญทั้งหมด 7 ส่วน
- หัวเตาแก๊สทั่วไป
- เหล็กแผ่นหัวเตา หนา 1.2 มิลลิเมตร
- เหล็กท่อหนา 3 มิลลิเมตร รัศมีความกว้าง 6 นิ้ว (ห้องเผาไหม้)
- แผ่นสังกะสีกันความร้อนด้านนอกห้องเผาไหม้
- เหล็กแผ่นกล่องฐานชุดรองรับขี้เถ้าหนา 1.2 มิลลิเมตร ( ขนาดชุดรองรับขี้เถ้า 15X 30 ซม. )
- Adapter ระบบ DC ขนาด 1,000 มิลลิแอมป์
- พัดลมหอยโข่ง ขนาด 1.34 แอมป์


หลังจากที่ประกอบชิ้นส่วนทุกส่วนแล้ว ก็จะมีขั้นตอนและวิธีการในการเผาเตาแกลบชีวมวลดังนี้คือ 1. ปิดฝากล่องให้แน่น และปิดตะแกรงท่อ
2. ใส่แกลบให้เต็มท่อ แล้วเสียบปลั๊กพัดลมหอยโข่ง
3. จุดไฟบนแกลบ แล้วเปิดพัดลมไปที่ 12 v.
4. เมื่อไฟติดแล้วให้นำหัวเตาแก๊สสวมบนท่อ เสร็จแล้วสามารถเริ่มทำอาหารได้เลย
5. เมื่อแกลบหมด ให้ปิดพัดลมก่อน แล้วเปิดฝากล่อง นำแกลบดำออกจากท่อ ถ้าต้องการใช้เตาต่อก็ให้เติมแกลบเข้าไปใหม่อีกครั้ง


แกลบดำที่ได้จากการเผาไหม้ของเตาแก๊สชีวมวล ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกด้วย นั่นก็คือนำมาผลิตเป็นปุ๋ยเพื่อใช้ใส่หน้าดินให้มีการร่วนซุยดี และเป็นปุ๋ยใส่พืชต่างๆ นอกจากนั้นยังนำไปผสมกับดินใช้เพาะกล้าพันธุ์พืชต่างๆ ได้
************************
ก่อนหน้าที่คุณบัญญัติจะมาตั้งเป็นกลุ่มพลังงานทดแทนนั้น ได้มีอาชีพเป็นช่างซ่อมจักรยานยนต์ มีการเปิดเป็นร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ และยังเป็นช่างเหล็ก เหล็กดัดทั่วไป จึงมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานเหล็กอยู่บ้างแล้วจึงง่ายต่อการทำเตาแก๊สชีวมวล เพราะอุปกรณ์ส่วนใหญ่ทำจากเหล็ก และในอนาคตคุณบัญญัติยังมีแนวคิดที่จะผลิตเตาแก๊สชีวมวลให้มีรูปแบบที่สวยงามและกะทัดรัดมากขึ้นกว่าเดิม และยังต้องการที่จะพัฒนาให้เตามีคุณภาพดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันยังขาดผู้สนับสนุนและเงินทุนที่จะนำมาพัฒนา จึงได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ ในอนาคตอาจมีผู้ที่มีเงินทุนมากพอที่จะมาช่วยร่วมพัฒนาต่อไป

ถ่านอัดแท่งไอเดียเจ๋งๆจากกลุ่มลุงสุ่ม

“เกษตรกรรู้จักการเผาถ่านมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ เริ่มต้นจากการใช้ฟืนที่หามาจากป่า สิ่งที่เหลือจากการใช้ฟืนคือเศษถ่าน เศษถ่านดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการเผาถ่าน บรรพบุรุษรู้จักที่จะทำให้การเผาไม้หรือฟืนให้ได้มาซึ่ง “ถ่าน” ให้ได้มากที่สุด จึงเกิดการทดลองเผาถ่านเรียนรู้กันเองตามธรรมชาติ จนในที่สุด ชาวบ้านรู้จักวิธีการเผาถ่าน ซึ่งการทำเตาเผาถ่านอย่างง่าย ที่เกษตรทำกันสืบทอดมานานจนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามแถบชนบท” นี่คือคำบอกเล่า ของชายวัย 70 ปี ที่ชื่อพ่อสุ่ม ใหม่อารีย์ ประธานกลุ่มถ่านอัดแท่งบ้านสันป่าก๊อ หมู่ 6 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย วันนี้ทีมงานเจ้าหน้าที่ Framer info ได้เดินทางไปพบกับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ บ้านป่าก๊อ ผู้สูงอายุที่นี่ไม่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ค่า แต่ละคนยังขยันขันแข็ง จนได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่ม “ถ่านอัดแท่ง” เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนในชุมชนทั่วไป จนปัจจุบันได้มีทางสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาสนับสนุน มีการเดินทางไปศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ จนเกิดความมั่นใจ และสร้างความเชื่อถือให้กับผู้นำชุมชน จนกระทั่งได้รับงบประมาณ SML จำนวน 200,000 บาท มาซื้ออุปกรณ์ เครื่องจักร มาผลิตถ่านอัดแท่ง ที่มีคุณภาพเป็นที่รู้จักของชุมชนทั่วไปนำออกจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปในจังหวัดเชียงราย



พ่อสุ่ม ได้เล่าถึงการเผาถ่านในปัจจุบัน ว่า การเผาถ่านปัจจุบันจะมีทั้งแบบที่ทำเตาเผาโดยใช้ก้อนอิฐสร้างเตาเหมือนจอมปลวก และอีกแบบที่เห็นกันเป็นประจำและพ่อสุ่มเองก็มีประสบการณ์มาแล้ว คือการเผาถ่านแบบขุดหลุมโดยใช้แกลบ(เปลือกข้าว)เป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันไม้ที่จะนำมาเผาถ่านเริ่มหายาก เนื่องจากป่าถูกอนุรักษ์ไว้ เกษตรกรส่วนใหญ่แล้วจะใช้ไม้ผลยืนต้นที่ถูกตัดจากสวนของตนเอง กิ่งไม้ขนาดใหญ่จำพวกไม้โตเร็วเช่น ก้ามปูหรือจามจุรี เกษตรกรได้แสวงหาประโยชน์สร้างรายได้จากเศษไม้ผล ไม้ยืนต้นของตนให้ได้มากที่สุด ไม้มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ลำไย จะถูกตัดกิ่งก้านใบกองแยกกัน สำหรับทำปุ๋ยหมัก ส่วนกิ่งไม้ท่อนเล็กจะถูกตัดยาวประมาณ 1 ฟุตใช้สำหรับทำฟืน ส่วนไม้ท่อนใหญ่จะถูกตัดเป็นท่อนๆเหมือนกันแต่จะใช้สำหรับเผาถ่านเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายทั่วไป สำหรับการเผาถ่านเกษตรกรแบบดั้งเดิม จะใช้วิธีการเผาถ่านแบบง่ายๆที่ชาวบ้านนิยมทำกัน ซึ่งอธิบายในที่นี้ ต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ดังนี้
- จอบสำหรับขุดหลุมเผาถ่านและสำหรับเกลี่ยกองวัสดุ
- บัวรดน้ำ ใช้รดน้ำบนถ่านไฟให้เย็น
- วัสดุทำเชื้อเพลง (เศษไม้ไผ่แห้ง ,ฟืน)
- แกลบดิบ
- ที่คีบถ่าน


วิธีทำ เริ่มต้นจากการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1.5x 2 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร
ใช้แกลบดิบปูพื้นหลุมหน้า 10 เซนติเมตร
ใช้ท่อนไม้วางซ้อนกันให้เต็มหลุมจากนั้นเทแกลบใส่ทับกองท่อนไม้
ใช้วัสดุทำเชื้อเพลิง เศษไม้ไผ่ จุดไฟยัดในหลุมให้อยู่ในระหว่างกองท่อนไม้ในหลุม รอสักครู่ให้ไฟติดและเผาไหม้วัสดุทำเชื้อเพลิงและเริ่มลามติดแกลบ
เทแกลบทับบนกองจนเกิดควัน จากนั้นเทแกลบเปียกความชื้น 60 % ลงทับตาม หรืออาจสลับกับแกลบแห้งให้เทแกลบทับได้มากที่สุด ไม่ต้องกังวลว่าไฟจะดับให้กองเผาถ่านมีควัน ระวังอย่าให้ไฟลุกติดออกมาข้างนอก
หมั่นดูแล ระวังอย่างให้ไฟลุก ถ้าแกลบไหม้ดำให้เทแกลบดิบทับไปเรื่อยๆ ดูแลให้ครบ 1 วัน จากนั้นรุ่งเช้าให้รดน้ำบนกองให้เปียก รอให้เย็น เกลี่ยกองแกลบออก จากนั้นค่อยๆคีบถ่านที่เผาสุกแล้ว ออกมากองไว้อย่ากองซ้อนทับกัน เพราะยังมีความร้อน อาจทำให้ไฟลุกติดได้ รดน้ำบนถ่านที่สุกแล้วอีกครั้ง จากนั้นตากลม-แดดให้แห้ง สามารถนำไปบรรจุใส่กระสอบสำหรับจำหน่ายได้
หลังจากเก็บถ่านที่สุก ออกจากหลุมหมดแล้ว ให้ทำความสะอาดหลุม กวาดเศษไม้และเศษแกลบดำออกให้หมด จากนั้นเริ่มต้นการเผาถ่านในครั้งใหม่อีกครั้ง
สำหรับแกลบดำที่เป็นเศษเหลือจากการเผาถ่านสามารถนำไปทำเป็นวัสดุสำหรับเพาะปลูกได้ ถ่านที่ได้จะถูกบรรจุกระสอบสำหรับใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายต่อไปในราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท
หมายเหตุ - การเผาถ่านให้ระวังความร้อนในระหว่างการรดน้ำและกลบแกลบ เพราะความร้อนจะสูงมาก - การเผาถ่านจะต้องห่างจากชุมชนและอาคารบ้านเรือน เนื่องจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้จะรบกวนเพื่อนบ้านและครอบครัว




จากวิวัฒนาการเดิม เห็นว่าการเผาถ่านแบบดังกล่าว เป็นการเผาถ่านที่สิ้นเปลือง เป็นการทำลายต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากเศษถ่านมีจำนวนมาก แต่สำหรับถ่านอัดแท่งแล้วจะใช้ถ่านที่ถูกเผาและรวมไปถึงเศษถ่านซึ่งมาจากไม้ทุกชนิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างคุ้มค่า พ่อสุ่ม เล่าถึงการทำ ถ่านอัดแท่งของกลุ่ม ว่า ลักษณะของถ่านอัดแท่งจากกลุ่มผู้ผลิตถ่านอัดแท่งบ้านป่าก๊อ เป็นถ่านที่มีคุณภาพสูงเนื่องจากผลิตจากวัสดุที่แตกต่างจากถ่านอัดแท่งทั่วไป คือจะนำกะลามะพร้าวมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตถ่าน เพราะกะลามะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษก็คือ มีน้ำมันเคลือบ ติดไฟง่าย เหมาะสำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังสามารถติดไฟอยู่ได้นาน ตามภูมิปัญญาชาวบ้านเมื่อก่อนนี้จะนำเอากะลามะพร้าวมาเป็นเชื้อเพลิง ทางกลุ่มจึงได้เล็งเห็นถึงลักษณะพิเศษและประโยชน์ของกะลามะพร้าว จึงได้นำมาผลิตเป็นถ่านคุณภาพดีออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิก นอกจากสร้างรายได้แล้วยังสามารถช่วยลดขยะในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย


วัสดุที่ต้องเตรียมสำหรับการทำถ่านอัดแท่ง 100 กิโลกรัม
1. ถ่านไม้ทุกชนิด 70 กิโลกรัม
2. ถ่านกะลามะพร้าว 30 กิโลกรัม
3. แป้งมันสำปะหลัง12 กิโลกรัม
4. น้ำเปล่าต้มสุกร้อน 40 ลิตร ( ขึ้นอยู่กับความชื้นของวัสดุ)
- คุณสมบัติของแป้งมัน กล่าวคือ การใช้แป้งมันสามารถช่วยให้ถ่านยึดติดกันเป็นก้อนได้ดีขึ้นเพราะแป้งมันมีความเหนียว ส่วนคุณสมบัติพิเศษ การใช้กะลามะพร้าวเพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย ไฟแรงและอยู่ได้นาน



วิธีการทำ
หลังจากที่มีการเตรียมวัสดุครบทุกอย่างแล้ว ก็ให้นำวัตถุดิบทุกอย่างลงผสมกันในเครื่องผสม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งในขณะที่ผสมนั้นก็ให้เติมน้ำเรื่อยเพื่อส่วนผสมเข้ากันได้ง่ายขึ้น เมื่อผสมเข้ากันได้ที่แล้ว ก็นำไปใส่ลงในเครื่องอัดแท่ง หลังจากนั้นก็จะได้ถ่านอัดแท่งที่มีขนาดยาวเป็นแท่งเดียว ทางสมาชิกกลุ่มจะตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ซึ่งถ่านของกลุ่มจะมีขนาดที่พอเหมาะคือยาว 7 นิ้วหรือประมาณ 18 เซนติเมตร ซึ่ง 6 ก้อนจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม

หลังจากได้ถ่านอัดแท่งตามขนาดที่ต้องการแล้ว จะนำมาตากแดดประมาณ 1 วัน เพื่อเป็นการกำจัดความชื้นที่อาจจะยังคงมีอยู่ในก้อนถ่าน ทำให้ถ่านแห้งสนิท ส่วนถ้าวันไหนไม่มีแสงแดดจะใช้วิธีการนำไปเข้าเตาอบ ลักษณะคือจะนำใส่วางลงแผงแล้วนำไปเข้าเตาอบความร้อนใช้เวลาอบ 2 วัน ถ่านอัดแท่งจะแห้งสนิทสามารถนำไปบรรจุถุงจำหน่ายได้
ถ้าเป็นขั้นตอนการตากแดด หลังจากนำไปตากแดด 1 วันเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำถ่านมาย่างไฟอ่อนๆ ประมาณ 50 องศา เพื่อเป็นการไล่ความชื้นจากถ่านอีกครั้งหนึ่ง และทำให้ถ่านแข็ง ไม่แตกหักง่าย เมื่อนำไปใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายก็จะง่ายขึ้นแลดูสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด


การจำหน่ายถ่านอัดแท่งกะลามะพร้าวของกลุ่มถ่านอัดแท่งหนองหม้อใหม่จะจำหน่ายในหลายพื้นที่ ราคาจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย จำหน่ายในชุมชนเดียวกันและชุมชนใกล้เคียงกิโลกรัมละ 10 บาท ถ้าในชุมชนห่างไกลหรือในตัวเมืองราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ปัจจุบันผลิตถ่านอัดแท่งขาย ด้วยเครื่องผสมและเครื่องอัดที่ทันสมัยกำลังการผลิตสามารถทำได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน สามารถผลิตถ่านอัดแท่งที่ได้คุณภาพส่งขายไปตามท้องตลาดได้ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดมากนัก



สมาชิกของกลุ่มกล่าวว่า หลังจากที่มีการนำไปทดลองใช้ดูแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากถ่านโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะทดลองใช้กับถ่าน 3 ก้อนสามารถใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนถ่านชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านจากไม้ทั่วไปหรือถ่านอัดแท่งที่ใช้วัสดุอื่นในการผลิตจะติดไฟอยู่ได้ไม่นาน อย่างมากที่สุดก็ประมาณ 40 นาที
คุณสมบัติพิเศษที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด
1. คุณสมบัติของถ่านอัดแท่ง
2. ให้ความร้อนสูง เนื่องจากเป็นถ่านที่ได้รับการเผาไหม้เต็มที่
3. ติดไฟนาน สามารถใช้งานได้นานกว่าถ่านไม้ชนิดอื่นๆ
4. ไม่แตกประทุอย่างถ่านไม้ทั่วไป
5. ไม่มีควัน เนื่องจากความชื้นน้อยมาก
6. ไม่มีกลิ่น ควัน เพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ไม่ผสมสารเคมีใดๆ
7. ไม่ดับกลางคัน แม้ว่าจะใช้ในที่ที่อากาศถ่ายเทน้อย ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่านบ่อยๆ
8. ให้ความร้อนสูงสม่ำเสมอ ไม่วูบวาบเนื่องจากความหนาแน่นของถ่านไม่เท่ากันทุกส่วน
9. ประหยัดเพราะใช้ได้นาน ไม่แตก และไม่ดับเมื่อติดแล้ว ทำให้ไม่มีการเสียเปล่า เนื่องจากถ่านจะเผาไหม้จนกว่าจะกลายเป็นขี้เถ้า
ปลอดภัยไม่มีสารตกค้างและไม่ทำลายสุขภาพ


ลักษณะเครื่องจักรที่ต้องใช้ ได้แก่
- เครื่องบด สามารถใช้สำหรับวัสดุขนาดใหญ่ บดให้ละเอียดตามที่ต้องการ
- เครื่องผสม สามารถใช้เครื่องผสมทั่วไปแทนได้ หรือผสมมือก็ได้
- เครื่องอัดแท่งถ่าน ถือเป็นหัวใจหลักมี 2 ชนิด คือ แบบอัดร้อนและแบบอัดเย็น
สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการถ่านไปใช้ ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ อุดหนุนสินค้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางลุงสุ่ม ใหม่อารีย์ ประธานกลุ่มถ่านอัดแท่งบ้านสันป่าก๊อ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-3023616 ได้

เกษตรกรผู้ปลูกไม้หอมว่าที่เศรษฐีในอนาคต


ดาบตำรวจพิทักษ์ บัวเคน เลขที่ 378 หมู่ที่ 6 บ้านสันมะแฟน ต.ธารทอง อ.พาน จ.เชียงราย
ข้าราชการตำรวจผู้มองอนาคตอันยาวไกลของไม้หอม และเห็นว่าไม้หอมตลาดในเมืองไทยไม่เป็นที่นิยมกันมากนัก แต่ตลาดและความต้องการไม้หอมของชาวต่างชาติ เช่นฝรั่งเศส อินเดีย และชาติอาหรับ มีความต้องการสูง ไม้หอมจึงเป็นไม้เศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต จึงได้หันมาปลูกไม้หอมมาตั้งแต่ปี 2547 บนพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ โดยก่อนหน้านั้นดาบตำรวจพิทักษ์ใช้พื้นที่ทั้งหมดปลูกแก้วมังกร แต่เห็นว่าเป็นพืชทั่วไปไม่นานนักชาวบ้านต้องปลูกกันมากขึ้น จึงหันมาเอาจริงจังกับการปลูกไม้หอม โดยเริ่มต้นซื้อต้นกล้ามาจากต่างจังหวัดและเริ่มต้นการปลูก ไม้ที่ปลูกมากที่สุด คือต้นกฤษณา รวมแล้วทั้งหมด 4,000 ต้น บนพื้นที่ 10 ไร่ และปลูกไม้ยางบง ยางพารา ไม้ผลอื่นๆ เงาะ มะม่วง สะตอ ปลูกแซมไปด้วยกัน
ดาบตำรวจพิทักษ์ ได้แบ่งปันเกี่ยวกับการปลูกไม้หอมให้กับผมและเชิญชวนให้ผู้สนใจปลูกไม้หอมเพื่ออนาคต การปลูกไม้หอม ปลูกไม่ยาก ดูแลง่าย เหมือนไม้ยืนต้นอื่นทั่วไป ซึ่งวิธีการปลูก และดูแลรักษาสามารถทำได้แต่ละชนิดดังนี้

การปลูกไม้กฤษณา
ดาบตำรวจพิทักษ์ให้ข้อมูลว่า ต้นกฤษณา เกษตรกรส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด กฤษณาจะออกดอกช่วงในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน หรือช่วงหลังสงกานต์ และจะผลัดใบ แต่ถ้าในช่วงไหนฝนแล้งก็จะมีดอกช่วงเดือนมีนาคม โดยจะมีดอก 2 ชุดคือ ชุดเล็กและชุดใหญ่ ผลจะแก่ช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็จะทยอยร่วงหล่น ผลมีเมล็ด 2 แบบคือ เมล็ดแก่จะมีสีเขียว และถ้าเมล็ดแก่มาก ๆ จะมีสีน้ำตาล และแตกออก ทำให้สามารถเก็บไปเพาะพันธุ์ต่อได้
ต้นกฤษณา ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การเพาะจะเพาะในถุงดำ กับวัสดุเพาะที่ใช้แกลบดำเพาะ พันธุ์ไม้กฤษณาที่ปลูกควรมีความสูง 60 เซนติเมตรขึ้นไปหรือมีอายุอย่าง น้อย 10 เดือนไม้กฤษณา ปลูกง่ายขึ้นง่ายในดินทุกชนิด ชอบดินที่มีความชื้น เป็นไม้ยืนต้นในเขตเมืองร้อน
วิธีการปลูกไม้กฤษณา ระยะ 2x3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 260 ต้น เหมาะสำหรับ ปลูกใน แปลงขนาด ใหญ่ 50 ไร่ ขึ้นไป เพราะ สามารถ นำรถ ไถ่เล็ก เข้าไป ตัดหญ้า ได้ระหว่าง แถว 3เมตร
เมื่อได้ระยะเวลาที่ลงกล้ากฤษณา นำต้น พันธุ์ ซึ่งขนาด ที่เหมาะสม คือ มีความ สูงอย่าง น้อย 50 เซนติเมตร อายุ 10 เดือน ลำต้นตรงแข็งแรงเพาะพันธุ์จากเมล็ดเพราะจะมีรากแก้วทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต ได้เร็วและ แข็งแรง เมื่อได้กล้าพันธุ์ แล้วให้ขุดหลุมปลูกระยะ 1 หน้าจอบ และลึก ประมาณ 20 เซนติเมตร นำหญ้า แห้งรอง ก้นหลุม ประมาณ 1 นิ้ว แล้วนำ โพลิเมอร์ (ดินวิทยาศาสตร์) ซึ่งแช่ น้ำไว้ อย่างน้อย 1ชั่วโมง รองก้นหลุม ปรมาณ 2 - 3 กำมือ หลังจาก นั้น นำปุ๋ยคอกผสมกับดินในอัตราส่วน 1/1 รองก้นหลุม ประมาณ 3 นิ้ว แล้วนำกล้ากฤษณามีฉีกถุงออกระวัง อย่าให้ ดินแตก หักนำต้นกล้าวางในหลุมให้ลึกจากระ ดับเดิมของต้นกล้าประมาณ 3 นิ้ว แล้วกลบ ด้วยดิน ให้แน่น จากนั้นนำ ไม้ปัก ลงใกล้ โคนต้น กล้าแล้ว มัดด้วย เชือกฟางป้องกันลงพัด ไม่ให้ต้นกล้าหักเอน ไปมาแล้วหาหญ้าแห้ง คลุมโคนไม้ รัศมีเส้นผ่า ศูนย์กลาง ประมาณ 40-50 เซนติเมตร พยายามให้โคนเป็นแอ่งกะทะ เล็กน้อยและมี คันรอบๆเส้นผ่าศูนย์กลางรอบโคนต้นไม้เพื่อไม่ให้น้ำ ไหลออกได้รวดเร็วเวลารดน้ำในหน้าแล้ง

วิธีดูแลรักษาไม้กฤษณา (ไม้หอม) ไม้กฤษณาเป็นไม้ที่ปลูกง่ายโตเร็วไม่ต้องเอาใจใส่เหมือนผลไม้ หลังจากปลูกแล้วให้สังเกตที่ใบของต้นถ้าต้นไม้มีการแตกใบอ่อนขึ้นมาใหม่ (หลังจาก ปลูกลง ดิน ประมาณ 2-4 อาทิตย์) แสดงว่า รากของ ต้นไม้ เริ่มแก ลงดิน แล้ว หลังจาก นั้น ทุก 2 เดือนควรหมั่น แต่งกิ่งไม้หอมเพราะไม้กฤษณาจะแตกพุ่มหลาย กิ่งจะ ต้องแต่ง กิ่งให้ เหลือกิ่งหลักเพียง กิ่งเดียวจะทำให้ไม้กฤษณา โตเร็วและทำ การดู แลรักษาได้ง่ายทำงานสะดวกต่อไปในอนาคต
โดยทั่วไปจะทำการแต่งกิ่งไม้กฤษณาประมาณ 3 ปีหลังจากนั้นจึงปล่อยตามธรรมชาติข้อควร ระวัง อย่าให้หญ้าขึ้นรกบริเวณโคนต้นจะทำให้ไม้กฤษณาเจริญเติบโตได้ช้ากว่าปกติและหญ้าแห้งที่คลุมโคนต้น ต้องหนาพอสมควร
การให้น้ำระยะที่ปลูกคือหน้าฝนระหว่างเดือนมิถุนายน - ตุลาคม ถ้าฝนตกสม่ำเสมอไม่ทิ้งช่วงนานกว่า 2 อาทิตย์ ไม่ต้อง รดน้ำ เลยก็ ได้ให้สังเกตที่ใบของต้นไม้ถ้าใบเริ่มเหี่ยวเฉาเพราะขาดน้ำอาจจะช่วยรดบ้าง หลังจากหมดหน้าฝนแล้วควรรด น้ำอาทิตย์2 ครั้ง จนไม้หอมอายุได้ 3 ปีหลังจาก 3 ปีขึ้นไปรดน้ำอาทิตย์ ละ 1 ครั้งจนกว่าจะเริ่มทำแผลต้นไม้
การใส่ปุ๋ยควรใส่ปุ๋ยอย่างน้อยปีละ 2 ครั้งคือช่วงก่อนหน้าฝนและครั้งที่ 2 คือหลังหน้าฝนแล้วควรใส่ ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์
การกำจัดวัชพืชอย่าให้มีหญ้าขึ้นตามโคน ต้นรัศมี 40 – 50 เซนติเมตร หรือมีหญ้าเลื้อยพันโคนต้นจะทำให้ ไม้เติบโตช้าส่วนระหว่างโคนต้นถ้าหญ้าขึ้นรกสามารถฉีดยาฆ่าหญ้าได้ ซึ่งหลังจากไม้หอมอายุ 6 ปีขึ้นไป หญ้าจะ ไม่ค่อยขึ้นเพราะใบของต้นไม้จะคลุม กันเอง

ดาบตำรวจมีเคล็ดลับในการกระตุ้นสารแก่นไม้กฤษณา จากการที่ศึกษาการปลูกและพฤติกรรมของต้นไม้ เดินทางไปอบรมและดูงานสวนไม้กฤษณาจากเพื่อนชาวสวนด้วยกันในหลายจังหวัด จนได้คิดค้นวิธีการกระตุ้นที่ไม่เหมือนใคร จนระดับอาจารย์ตังต้องทึ่งในความสามารถของดาบตำรวจพิทักษ์ ซึ่งการกระตุ้นแก่นสารดังกล่าว โดยใช้หลักการให้ต้นระคายเคือง ดูตามลักษณะแล้วจะเห็นว่ามีการใช้สว่านเจาะลำต้นลึกประมาณ 10 เซนติเมตรขนาดรูเท่าด้านปากกา 1 ต้นประมาณ 15-20 รู แล้วใช่ท่อเล็กๆเสียบคาไว้ จากนั้นกระตุ้นด้วยยาสูตรพิเศษที่เปิดเผยไม่ได้ ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จะพบว่าต้นและกิ่งเริ่มมีแก่นเนื้อสีดำ ซึ่งเป็นแก่นเนื้อที่ตลาดมีความต้องการ ราคารับซื้อหลักหมื่น เลยทีเดียว

ไม้กฤษณาเป็นที่ต้องการของชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่จะนำไปประกอบพิธีทางศาสนา ทำเป็นสมุนไพร และมักใส่ในน้ำหอม ทำให้ติดทนนาน ในแถบตะวันออกกลาง มักจุดใช้ในครัวเรือนทำให้มีกลิ่นหอม เป็นเครื่องแสดงฐานะ
การปลูกไม้ยางบง

ดาบตำรวจพิทักษ์ ได้แนะนำเรื่องของไม้ยางบงที่เพาะและปลูกอยู่ในขณะนี้ให้ทีมงานฯฟังว่า ไม้ยางบงเดิมมีจำนวนมากเป็นไม้พื้นบ้านสมัยบรรพบุรุษ ชาวบ้านเรียกว่าต้นไก๋ เดิมชาวบ้านถากเอาเปลือกมาผสมกับขี้ควายแล้วนำไปอุดรูรั่วในยุ้งฉางข้าว ภาคกลางเรียกกันว่า ไม้ยางบง ลักษณะเป็นไม้ยืนต้น เป็นไม้เศรษฐกิจที่เกษตรกรมองข้าม และเริ่มสูญพันธุ์ไปจากป่าชุมชน ต้นยางบงเป็นไม้เนื้อหอม สามารถถากเอาเปลือกมาทำเป็นธูปหอมได้ ยางบงสามารถขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด ควรเพาะเมล็ดหลังจากเก็บเมล็ดมาแล้วไม่เกิน 30 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากเพาะแล้วประมาณ 15-30 วัน ต้องเอาเยื่อหุ้มผลออกก่อน โดยการขยำด้วยมือ จะเพาะด้วยการเพาะลงถุงโดยตรง หรือเพาะลงแปลงเพาะก็ได้ แต่สำหรับดาบตำรวจพิทักษ์แล้ว จะเพาะในถุงเพาะสีดำโดยใช้แกลบดำเป็นวัสดุเพาะ หมั่นรดน้ำทุกวัน ดูแลรดน้ำให้ชุ่มประมาณ 2 เดือนสามารถย้ายต้นกล้าลงปลูกได้


วิธีการปลูกและระยะปลูกที่เหมาะสม การปลูกยางบง ขนาดหลุมที่เหมาะสมสำหรับการปลูกคือมีขนาดกว้าง 30 ซม. ยาว 30 ซม. ลึก 40 ซม. กันหลุมให้ใช้ปุ๋ยคอกผสมหญ้าแห้ง ฟางข้าวแห้งหรือเศษใบไม้แห้ง รองก้นหลุม เพื่อเก็บความชื้น ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 4 x 4 เมตร หรืออาจใช้ขนาด 3x3 เมตร ก็ได้ เฉลี่ยแล้ว 1ไร่จะปลูกได้ประมาณ 120 ต้น หมั่นให้น้ำช่วงฤดูแล้ง ทำแนวกันไฟและกำจัดวัชพืชทุก ๆ 2-3 เดือน การดูแลจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ทุกๆ 1 ปี ปีละ 1 ครั้ง รอบโคนต้น
ยางบงเป็นไม้เศรษฐกิจ หลังจากต้นยางบงอายุ 5 ปี สามารถถากเปลือกจากลำต้นมาตากแดด ประมาณ 3 วัน แล้วบดเป็นผง ผงยางบงจะมีกลิ่นหอม คุณสมบัติของผงเปลือกไม้ยางบงเมื่อโดนน้ำจะเหนียวนุ่มเหมือนกาวจึงนิยมนำมาทำธูป ซึ่งก็เป็นไม้ที่ใช้ทำธูปกันมานานแล้ว ธูปถือว่าเป็นของใช้สิ้นเปลือง ปัจจุบันไม้ยางบงจึงมีราคาแพง เฉลี่ยกิโลกรัมละ 15-20 บาท

สะตอ ดาบตำรวจพิทักษ์ ได้ต้นกล้ามาจากต่างจังหวัด สะตอต้องปลูกฤดูฝน เดือน พฤษภาคม- มิถุนายน ต้นกล้าที่จะปลูกได้ต้องมีอายุ 4 เดือน ควรใช้ระยะปลูก 10X10 หรือ 12X12 เมตร ใน 1 ไร่ ปลูกได้ 16 หรือ 11 ต้น หลุมที่ปลูกจะขุดหลุมขนาด1X1X1 เมตร ใส่ปุ๋ยฟอสเฟตรองก้นหลุมหลุมละ 1 กระป๋องนม ตากดินไว้ 1-2 สัปดาห์ ผสมดินกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก 1 บุ้งกี๋ คลุกเคล้าให้เข้ากันและกลบใส่ให้เต็มหลุม ปลูกประมาณ 7 ปีได้เก็บผลผลิต

หน่อไม้ยักษ์ หรือหน่อไม้หก ปลูกง่ายเหมือนต้นไผ่ทั่วไป โตเร็ว ระยะเวลา 3 ปีหลังจากปลูกถ้าดูแลอย่างดี สามารถนำต้นตอขยายพันธุ์ได้ ราคาต้นตอพันธุ์ต้นละ 300-500 บาท ส่งขายให้กับลูกค้าต่างจังหวัด เป็นที่ที่ยมปลูกในทางภาคกลางตอนล่าง หน่อไม้มีรสชาติเหมือนไผ่บงกาย ส่วนลำไผ่ เป็นไม้เศรษฐกิจถ้าปลูกจำนวนมากๆสามารถตัดส่งขายโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ได้ ราคาค่อนข้างดี

ดาบตำรวจพิทักษ์ ได้ส่งเสริมให้กับชาวบ้านที่สนใจปลูกไม้ยางบง ไม้กฤษณา ไม้หอมอินโด เพราะเป็นไม้หอมที่มีราคาแพง ปลูกประมาณ 5 ปีก็สามารถสร้างรายได้อย่างงาม ดาบตำรวจพิทักษ์ ยินดีส่งเสริมและแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการปลูก ส่วนเกษตรกรที่ปลูกอยู่แล้ว อาจจะโดนกระแสต่างๆเกี่ยวกับการปลูกไม้หอมจนท้อใจ จึงอยากเชิญชวนมาเยี่ยมที่สวนของดาบตำรวจพิทักษ์ ซึ่งจะพบว่า อนาคตของไม้หอมเหล่านี้ไม่ได้เจอทางตันอย่างที่คิดไว้