วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ถ่านอัดแท่งไอเดียเจ๋งๆจากกลุ่มลุงสุ่ม

“เกษตรกรรู้จักการเผาถ่านมานานตั้งแต่บรรพบุรุษ เริ่มต้นจากการใช้ฟืนที่หามาจากป่า สิ่งที่เหลือจากการใช้ฟืนคือเศษถ่าน เศษถ่านดังกล่าวจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้มีการเผาถ่าน บรรพบุรุษรู้จักที่จะทำให้การเผาไม้หรือฟืนให้ได้มาซึ่ง “ถ่าน” ให้ได้มากที่สุด จึงเกิดการทดลองเผาถ่านเรียนรู้กันเองตามธรรมชาติ จนในที่สุด ชาวบ้านรู้จักวิธีการเผาถ่าน ซึ่งการทำเตาเผาถ่านอย่างง่าย ที่เกษตรทำกันสืบทอดมานานจนกระทั่งในปัจจุบันก็ยังมีให้เห็นอยู่ทั่วไปตามแถบชนบท” นี่คือคำบอกเล่า ของชายวัย 70 ปี ที่ชื่อพ่อสุ่ม ใหม่อารีย์ ประธานกลุ่มถ่านอัดแท่งบ้านสันป่าก๊อ หมู่ 6 ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย วันนี้ทีมงานเจ้าหน้าที่ Framer info ได้เดินทางไปพบกับสมาชิกกลุ่มผู้สูงอายุ บ้านป่าก๊อ ผู้สูงอายุที่นี่ไม่ได้ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไร้ค่า แต่ละคนยังขยันขันแข็ง จนได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นกลุ่ม “ถ่านอัดแท่ง” เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนในชุมชนทั่วไป จนปัจจุบันได้มีทางสำนักงานพลังงานจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาสนับสนุน มีการเดินทางไปศึกษาดูงานจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ จนเกิดความมั่นใจ และสร้างความเชื่อถือให้กับผู้นำชุมชน จนกระทั่งได้รับงบประมาณ SML จำนวน 200,000 บาท มาซื้ออุปกรณ์ เครื่องจักร มาผลิตถ่านอัดแท่ง ที่มีคุณภาพเป็นที่รู้จักของชุมชนทั่วไปนำออกจำหน่ายตามร้านค้าทั่วไปในจังหวัดเชียงราย



พ่อสุ่ม ได้เล่าถึงการเผาถ่านในปัจจุบัน ว่า การเผาถ่านปัจจุบันจะมีทั้งแบบที่ทำเตาเผาโดยใช้ก้อนอิฐสร้างเตาเหมือนจอมปลวก และอีกแบบที่เห็นกันเป็นประจำและพ่อสุ่มเองก็มีประสบการณ์มาแล้ว คือการเผาถ่านแบบขุดหลุมโดยใช้แกลบ(เปลือกข้าว)เป็นเชื้อเพลิง ปัจจุบันไม้ที่จะนำมาเผาถ่านเริ่มหายาก เนื่องจากป่าถูกอนุรักษ์ไว้ เกษตรกรส่วนใหญ่แล้วจะใช้ไม้ผลยืนต้นที่ถูกตัดจากสวนของตนเอง กิ่งไม้ขนาดใหญ่จำพวกไม้โตเร็วเช่น ก้ามปูหรือจามจุรี เกษตรกรได้แสวงหาประโยชน์สร้างรายได้จากเศษไม้ผล ไม้ยืนต้นของตนให้ได้มากที่สุด ไม้มะม่วง กระท้อน ส้มโอ ลำไย จะถูกตัดกิ่งก้านใบกองแยกกัน สำหรับทำปุ๋ยหมัก ส่วนกิ่งไม้ท่อนเล็กจะถูกตัดยาวประมาณ 1 ฟุตใช้สำหรับทำฟืน ส่วนไม้ท่อนใหญ่จะถูกตัดเป็นท่อนๆเหมือนกันแต่จะใช้สำหรับเผาถ่านเพื่อใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายทั่วไป สำหรับการเผาถ่านเกษตรกรแบบดั้งเดิม จะใช้วิธีการเผาถ่านแบบง่ายๆที่ชาวบ้านนิยมทำกัน ซึ่งอธิบายในที่นี้ ต้องเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ดังนี้
- จอบสำหรับขุดหลุมเผาถ่านและสำหรับเกลี่ยกองวัสดุ
- บัวรดน้ำ ใช้รดน้ำบนถ่านไฟให้เย็น
- วัสดุทำเชื้อเพลง (เศษไม้ไผ่แห้ง ,ฟืน)
- แกลบดิบ
- ที่คีบถ่าน


วิธีทำ เริ่มต้นจากการขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยม กว้างประมาณ 1.5x 2 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร
ใช้แกลบดิบปูพื้นหลุมหน้า 10 เซนติเมตร
ใช้ท่อนไม้วางซ้อนกันให้เต็มหลุมจากนั้นเทแกลบใส่ทับกองท่อนไม้
ใช้วัสดุทำเชื้อเพลิง เศษไม้ไผ่ จุดไฟยัดในหลุมให้อยู่ในระหว่างกองท่อนไม้ในหลุม รอสักครู่ให้ไฟติดและเผาไหม้วัสดุทำเชื้อเพลิงและเริ่มลามติดแกลบ
เทแกลบทับบนกองจนเกิดควัน จากนั้นเทแกลบเปียกความชื้น 60 % ลงทับตาม หรืออาจสลับกับแกลบแห้งให้เทแกลบทับได้มากที่สุด ไม่ต้องกังวลว่าไฟจะดับให้กองเผาถ่านมีควัน ระวังอย่าให้ไฟลุกติดออกมาข้างนอก
หมั่นดูแล ระวังอย่างให้ไฟลุก ถ้าแกลบไหม้ดำให้เทแกลบดิบทับไปเรื่อยๆ ดูแลให้ครบ 1 วัน จากนั้นรุ่งเช้าให้รดน้ำบนกองให้เปียก รอให้เย็น เกลี่ยกองแกลบออก จากนั้นค่อยๆคีบถ่านที่เผาสุกแล้ว ออกมากองไว้อย่ากองซ้อนทับกัน เพราะยังมีความร้อน อาจทำให้ไฟลุกติดได้ รดน้ำบนถ่านที่สุกแล้วอีกครั้ง จากนั้นตากลม-แดดให้แห้ง สามารถนำไปบรรจุใส่กระสอบสำหรับจำหน่ายได้
หลังจากเก็บถ่านที่สุก ออกจากหลุมหมดแล้ว ให้ทำความสะอาดหลุม กวาดเศษไม้และเศษแกลบดำออกให้หมด จากนั้นเริ่มต้นการเผาถ่านในครั้งใหม่อีกครั้ง
สำหรับแกลบดำที่เป็นเศษเหลือจากการเผาถ่านสามารถนำไปทำเป็นวัสดุสำหรับเพาะปลูกได้ ถ่านที่ได้จะถูกบรรจุกระสอบสำหรับใช้ในครัวเรือนและจำหน่ายต่อไปในราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท
หมายเหตุ - การเผาถ่านให้ระวังความร้อนในระหว่างการรดน้ำและกลบแกลบ เพราะความร้อนจะสูงมาก - การเผาถ่านจะต้องห่างจากชุมชนและอาคารบ้านเรือน เนื่องจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้จะรบกวนเพื่อนบ้านและครอบครัว




จากวิวัฒนาการเดิม เห็นว่าการเผาถ่านแบบดังกล่าว เป็นการเผาถ่านที่สิ้นเปลือง เป็นการทำลายต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากเศษถ่านมีจำนวนมาก แต่สำหรับถ่านอัดแท่งแล้วจะใช้ถ่านที่ถูกเผาและรวมไปถึงเศษถ่านซึ่งมาจากไม้ทุกชนิด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างคุ้มค่า พ่อสุ่ม เล่าถึงการทำ ถ่านอัดแท่งของกลุ่ม ว่า ลักษณะของถ่านอัดแท่งจากกลุ่มผู้ผลิตถ่านอัดแท่งบ้านป่าก๊อ เป็นถ่านที่มีคุณภาพสูงเนื่องจากผลิตจากวัสดุที่แตกต่างจากถ่านอัดแท่งทั่วไป คือจะนำกะลามะพร้าวมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตถ่าน เพราะกะลามะพร้าวมีคุณสมบัติพิเศษก็คือ มีน้ำมันเคลือบ ติดไฟง่าย เหมาะสำหรับนำมาเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนั้นยังสามารถติดไฟอยู่ได้นาน ตามภูมิปัญญาชาวบ้านเมื่อก่อนนี้จะนำเอากะลามะพร้าวมาเป็นเชื้อเพลิง ทางกลุ่มจึงได้เล็งเห็นถึงลักษณะพิเศษและประโยชน์ของกะลามะพร้าว จึงได้นำมาผลิตเป็นถ่านคุณภาพดีออกจำหน่ายสร้างรายได้ให้กับสมาชิก นอกจากสร้างรายได้แล้วยังสามารถช่วยลดขยะในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย


วัสดุที่ต้องเตรียมสำหรับการทำถ่านอัดแท่ง 100 กิโลกรัม
1. ถ่านไม้ทุกชนิด 70 กิโลกรัม
2. ถ่านกะลามะพร้าว 30 กิโลกรัม
3. แป้งมันสำปะหลัง12 กิโลกรัม
4. น้ำเปล่าต้มสุกร้อน 40 ลิตร ( ขึ้นอยู่กับความชื้นของวัสดุ)
- คุณสมบัติของแป้งมัน กล่าวคือ การใช้แป้งมันสามารถช่วยให้ถ่านยึดติดกันเป็นก้อนได้ดีขึ้นเพราะแป้งมันมีความเหนียว ส่วนคุณสมบัติพิเศษ การใช้กะลามะพร้าวเพราะเป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟง่าย ไฟแรงและอยู่ได้นาน



วิธีการทำ
หลังจากที่มีการเตรียมวัสดุครบทุกอย่างแล้ว ก็ให้นำวัตถุดิบทุกอย่างลงผสมกันในเครื่องผสม คลุกเคล้าให้เข้ากัน ซึ่งในขณะที่ผสมนั้นก็ให้เติมน้ำเรื่อยเพื่อส่วนผสมเข้ากันได้ง่ายขึ้น เมื่อผสมเข้ากันได้ที่แล้ว ก็นำไปใส่ลงในเครื่องอัดแท่ง หลังจากนั้นก็จะได้ถ่านอัดแท่งที่มีขนาดยาวเป็นแท่งเดียว ทางสมาชิกกลุ่มจะตัดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ซึ่งถ่านของกลุ่มจะมีขนาดที่พอเหมาะคือยาว 7 นิ้วหรือประมาณ 18 เซนติเมตร ซึ่ง 6 ก้อนจะมีน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม

หลังจากได้ถ่านอัดแท่งตามขนาดที่ต้องการแล้ว จะนำมาตากแดดประมาณ 1 วัน เพื่อเป็นการกำจัดความชื้นที่อาจจะยังคงมีอยู่ในก้อนถ่าน ทำให้ถ่านแห้งสนิท ส่วนถ้าวันไหนไม่มีแสงแดดจะใช้วิธีการนำไปเข้าเตาอบ ลักษณะคือจะนำใส่วางลงแผงแล้วนำไปเข้าเตาอบความร้อนใช้เวลาอบ 2 วัน ถ่านอัดแท่งจะแห้งสนิทสามารถนำไปบรรจุถุงจำหน่ายได้
ถ้าเป็นขั้นตอนการตากแดด หลังจากนำไปตากแดด 1 วันเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำถ่านมาย่างไฟอ่อนๆ ประมาณ 50 องศา เพื่อเป็นการไล่ความชื้นจากถ่านอีกครั้งหนึ่ง และทำให้ถ่านแข็ง ไม่แตกหักง่าย เมื่อนำไปใส่บรรจุภัณฑ์จำหน่ายก็จะง่ายขึ้นแลดูสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด


การจำหน่ายถ่านอัดแท่งกะลามะพร้าวของกลุ่มถ่านอัดแท่งหนองหม้อใหม่จะจำหน่ายในหลายพื้นที่ ราคาจึงมีความแตกต่างกันเล็กน้อย จำหน่ายในชุมชนเดียวกันและชุมชนใกล้เคียงกิโลกรัมละ 10 บาท ถ้าในชุมชนห่างไกลหรือในตัวเมืองราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 12 บาท ปัจจุบันผลิตถ่านอัดแท่งขาย ด้วยเครื่องผสมและเครื่องอัดที่ทันสมัยกำลังการผลิตสามารถทำได้ถึง 300 กิโลกรัมต่อวัน สามารถผลิตถ่านอัดแท่งที่ได้คุณภาพส่งขายไปตามท้องตลาดได้ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของตลาดมากนัก



สมาชิกของกลุ่มกล่าวว่า หลังจากที่มีการนำไปทดลองใช้ดูแล้วจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากถ่านโดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เพราะทดลองใช้กับถ่าน 3 ก้อนสามารถใช้ได้ประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที ส่วนถ่านชนิดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นถ่านจากไม้ทั่วไปหรือถ่านอัดแท่งที่ใช้วัสดุอื่นในการผลิตจะติดไฟอยู่ได้ไม่นาน อย่างมากที่สุดก็ประมาณ 40 นาที
คุณสมบัติพิเศษที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด
1. คุณสมบัติของถ่านอัดแท่ง
2. ให้ความร้อนสูง เนื่องจากเป็นถ่านที่ได้รับการเผาไหม้เต็มที่
3. ติดไฟนาน สามารถใช้งานได้นานกว่าถ่านไม้ชนิดอื่นๆ
4. ไม่แตกประทุอย่างถ่านไม้ทั่วไป
5. ไม่มีควัน เนื่องจากความชื้นน้อยมาก
6. ไม่มีกลิ่น ควัน เพราะผลิตจากวัสดุธรรมชาติ 100% ไม่ผสมสารเคมีใดๆ
7. ไม่ดับกลางคัน แม้ว่าจะใช้ในที่ที่อากาศถ่ายเทน้อย ทำให้ไม่ต้องเปลี่ยนถ่านบ่อยๆ
8. ให้ความร้อนสูงสม่ำเสมอ ไม่วูบวาบเนื่องจากความหนาแน่นของถ่านไม่เท่ากันทุกส่วน
9. ประหยัดเพราะใช้ได้นาน ไม่แตก และไม่ดับเมื่อติดแล้ว ทำให้ไม่มีการเสียเปล่า เนื่องจากถ่านจะเผาไหม้จนกว่าจะกลายเป็นขี้เถ้า
ปลอดภัยไม่มีสารตกค้างและไม่ทำลายสุขภาพ


ลักษณะเครื่องจักรที่ต้องใช้ ได้แก่
- เครื่องบด สามารถใช้สำหรับวัสดุขนาดใหญ่ บดให้ละเอียดตามที่ต้องการ
- เครื่องผสม สามารถใช้เครื่องผสมทั่วไปแทนได้ หรือผสมมือก็ได้
- เครื่องอัดแท่งถ่าน ถือเป็นหัวใจหลักมี 2 ชนิด คือ แบบอัดร้อนและแบบอัดเย็น
สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการถ่านไปใช้ ถือว่าเป็นการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ อุดหนุนสินค้าช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับทางลุงสุ่ม ใหม่อารีย์ ประธานกลุ่มถ่านอัดแท่งบ้านสันป่าก๊อ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 087-3023616 ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น