วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คนเก็บขี้ค้างคาว


บ้านถ้ำผาตอง หมู่ที่ 6 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ถ้ำผาตอง บ้านถ้ำผาตอง ตำบลท่าสุด จากตัวเมืองเชียงรายไปตามถนนเชียงราย-แม่จัน 19 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตรงหลักกิโลเมตรที่ 848 หน้าวัดแม่ข้าวต้มท่าสุด ไปอีก 3 กิโลเมตร นอกจากถ้ำผาตองแล้วยังมีถ้ำสายธาร ถ้ำแม่ครัว จุดน่าสนใจคือ กลุ่มแกะสลักไม้กระบวยตักน้ำกะลามะพร้าว มีด้ามไม้สักแกะสลักเป็นรูปต่าง ๆ ที่แสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวล้านนา หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงทางด้านงานแกะสลักไม้พื้นบ้าน การคมนาคมในพื้นที่มีความสะดวกสบาย เกษตรกรสามารถทำนาข้าวได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ในพื้นที่นี้ส่วนใหญ่จะปลูกถั่วเหลืองเป็นพืชสลับหมุนเวียนกับการทำนาข้าว
ขี้ค้างคาวประกอบไปด้วย ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่สูงกว่ามูลของสัตว์ชนิดอื่นๆ จึงเป็นที่นิยมของเกษตรกรในการนำมาเป็นส่วนผสมในดินเพื่อใช้ในการปลูกพืชทำการเกษตร ปัจจุบันขี้ค้างคาวเริ่มหายาก เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม และความต้องการสำหรับการใช้ขี้ค้างคาวมีปริมาณที่สูงขึ้น ขี้ค้างคาวจึงเป็นปุ๋ยที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีแหล่งเก็บขี้ค้างคาว การเก็บขี้ค้างคาว จะต้องไปเก็บในถ้ำที่มีค้างคาวอาศัยอยู่ ซึ่งในสภาพพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย มีพื้นที่บางส่วนเป็นภูเขาหินสูง เช่นในพื้นที่ อำเภอเวียงชัย อันเป็นที่รู้จักกันดีที่ตำบลผางาม อำเภอแม่สาย อำเภอพานบ้างเล็กน้อย และในเขตอำเภอเมืองที่ตำบลท่าสุด บ้านถ้ำผาตอง ทำให้ในวันนี้ทางทีมงานฯจึงได้เดินตามรอยของเกษตรกรผู้เก็บขี้ค้างคาว ณ บ้านถ้ำผาตอง หมู่ที่ 6 ต.ท่าสุด อ.เมือง จ.เชียงราย ที่นี่เราได้พบกับคุณสี ปัญญาธรรม เกษตรกรผู้เก็บขี้ค้างคาวมานานกว่า 20 ปี วันนี้คุณสีจะพาทีมงานได้ไปสัมผัสกับชีวิตจริงของคนเก็บขี้ค้างคาว

คุณสี เล่าให้ทางทีมงานฟังว่า หมู่บ้านถ้ำผาตอง มีภูเขาหินที่พาดผ่านระหว่างอำเภอเมืองที่บ้านถ้ำผาตอง ยาวไปถึงเขตพื้นที่ของบ้านป่าคา อำเภอแม่จัน ในระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถ้ำผาตอง มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ผาตอง หรือเรียกง่ายๆว่า ผาทอง มีถ้ำที่ถูกค้นพบแล้วและยังไม่ค้นพบอีกรวมจำนวนมากกว่า 100 ถ้ำ ทุกๆถ้ำจะพบว่ามีค้างคาวหลายชนิดอาศัยอยู่หลายพันตัว โดยที่ถ้ำผาตองจะมีวัดที่ชื่อว่า วัดถ้ำผาตอง เดิมมีตำนานเล่าขานว่ามีชาวบ้าน พบพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 20 นิ้ว อยู่ในถ้ำแห่งนี้ และสามารถเคลื่อนย้ายได้ด้วยอิทธิฤทธิ์ของเจ้าป่าเจ้าเขาที่สิงสถิตอยู่ในถ้ำแห่งนี้ บ่อยครั้งที่คนเก็บขี้ค้างคาวได้เคยพบ แต่สำหรับคุณสีเอง เชื่อว่า นี่คือผู้ปกป้องรักษาขุนเขา และดูแลปกปักรักษาคนในหมู่บ้านถ้ำผาตองให้อยู่ดีกินดี ค้างคาว ที่คุณสีพบในปัจจุบันจะมี 2 ชนิด คือ ชนิดกินพืช และชนิดกินแมลง

ขี้ค้างคาวกินแมลง ลักษณะจะจับตัวเป็นก้อนและถ้าแห้งแล้วจะเป็นผง อย่างสังเกตเห็นได้ชัด ขี้ค้างคาวชนิดนี้เป็นที่นิยมในการนำมาทำปุ๋ยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมี ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปรแตสเซียม ในปริมาณที่สูงกว่า ค้างคาวชนิดนี้เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์ ชาวบ้านไม่นิยมนำมาเป็นอาหาร
ขี้ค้างคาวกินพืช ลักษณะค้างคาวชนิดนี้จะกินผลไม้ กล้วย ลำไย และไม้ผลอื่นๆ และพวกมันจะถ่ายเหลวไม่จับตัวเป็นก้อน การเก็บจะเก็บเฉพาะขี้ค้างคาวที่แห้งเท่านั้น ไม่นิยมในการนำมาทำปุ๋ย ส่วนใหญ่แล้วจะนำมาทุบให้แหลกแล้วนำไปผสมกับขี้ค้างคาวกินแมลง ค้างคาวชนิดนี้ตัวใหญ่ เช่น ค้างคาวหน้าวัว ค้างคาวหูขาว ชาวบ้านนิยมนำมาเป็นอาหาร


ปัจจุบันคุณสี อายุมากแล้ว การเก็บขี้ค้างคาวจึงทำได้ไม่ค่อยบ่อยนัก ไม่เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน คุณสีจะขึ้นไปเก็บขี้ค้างคาวทุกวัน การเก็บขี้ค้างคาวของคุณสี จะเดินทางไปพร้อมกับเพื่อนบ้าน 4-5 คน สามารถเก็บได้ทุกฤดู ยกเว้นช่วงหน้าฝนจะมีปัญหาเรื่องชื้นแฉะในถ้ำมีน้ำท่วมขังมาก การเก็บขี้ค้างคาวจะต้องเตรียมอุปกรณ์คือ ไฟฉาย กระสอบฟาง และไม้กวาดทางมะพร้าวขนาดเล็ก ไม้ขีดไฟ บันไดขึ้นถ้ำ ถ้ำที่มีค้างคาวจะต้องเป็นถ้ำที่กว้างและลึกมีเพดานด้านบนสูง ค้างคาวจะมาพักผ่อนบนเพดานถ้ำและถ่ายมูลลงมาข้างล่าง บางถ้ำสามารถเก็บขี้ค้างคาวได้มากถึง 100 ปีบ (1 ปีบหนัก 8 กิโลกรัม) ราคาขายปัจจุบันปีบละ 140 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามารับซื้อถึงในหมู่บ้าน อย่างไรก็ตามผู้นำชุมชนได้สั่งห้ามไม่ให้บุคคลภายนอกมาเก็บขี้ค้างคาวเพื่อนำไปขาย แต่สามารถเข้ามาเอาขี้ค้างคาวได้ในจำนวนไม่มากเพื่อการนำไปใส่ผักสวนครัวของตนเองได้ ส่วนบุคคลในบ้านถ้ำผาตองสามารถที่จะนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ให้กับครัวเรือนได้
ที่วัดถ้ำผาตองมีถ้ำขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในบริเวณวัด เป็นเหมือนเขตอภัยทาน ถ้าบุคคลใดเข้าไปเก็บขี้ค้างคาวจะต้องขออนุญาตเจ้าอาวาสวัดก่อน การเก็บขี้ค้างคาวจะต้องเก็บไปเฉพาะพอใช้ ไม่สนับสนุนให้เก็บไปขาย คุณสีบอกว่า เป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากว่า ขณะนี้มีชาวบ้านที่นอกจากจะเก็บขี้ค้างคาวแล้ว ยังใช้ไฟมาจุดเผาในถ้ำเพื่อเอาค้างคาวไปขายด้วย เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ค้างคาวบางถ้ำต้องหนีไปอยู่ที่อื่น และหนีมาอยู่ที่วัดแห่งนี้

คุณสี ได้เล่าให้ทางทีมงานฯเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากขี้ค้างคาว ว่า คนในชุมชนสวนใหญ่จะไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการปลูกพืช เพราะพืชผักที่นี่อุดมสมบูรณ์ชาวบ้านใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวเป็นประจำ โดยเฉพาะการใช้ปุ๋ยขี้ค้างคาวในนาข้าว มีสูตรในการทำดังนี้
ขี้ค้างคาวแห้ง 3 ปีบ (24 กิโลกรัม)
ปุ๋ยสูตร16-20-0 จำนวน 1 ลูก
วิธีทำและการนำไปใช้ - รดน้ำปุ๋ยเคมีให้พอชุ่ม หมักรวมกันกับขี้ค้างคาวรวมกัน 3 คืนในถัง ใช้หว่านนาข้าวที่มีอายุ 45 วัน จำนวน 10 กิโลกรัมต่อ 1ไร่ เมื่อเทียบกับปุ๋ยเคมีแล้วจะต้องใส่ 15-20 กิโลกรัมต่อ 1 ไร่ แต่อย่าใส่ในจำนวนที่มากกว่านี้ เนื่องจากต้นข้าวจะงาม สูงเกินไป ทำให้ไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยว ปุ๋ยขี้ค้างคาวจะช่วยบำรุงต้น และเมล็ด ช่วยให้ได้ผลผลิตดี ลดต้นทุนในการผลิต
การใช้ขี้ค้างคาว กับผักสวนครัว ขี้ค้างคาว เป็นปุ๋ยเข้มข้น ถ้าใช้ปริมาณมากจะส่งผลทำให้ผักสวนครัวเสียหายได้ การใช้ขี้ค้างคาวในแปลงผักสวนครัว สามารถทำได้ ดังนี้
ขี้ค้างคาวแห้ง 1 ส่วน
ปุ๋ยคอก 1 ส่วน


วิธีทำและวิธีใช้- ผสมขี้ค้างคาวและปุ๋ยคอกให้เข้ากัน จากนั้นนำหว่านลงแปลงผักสวนครัวก่อนทำการลงแปลงปลูกให้ทั่ว รดน้ำบนแปลงทุกวัน เช้าและเย็น ให้พอชุ่ม 4-5 วัน จากนั้นพอครบระยะเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถนำกล้าผักลงปลูกในแปลงได้
ข้อควรระวังสำหรับการใช้ขี้ค้างคาว กับผักสวนครัว - ถ้าเป็นผักสวนครัวประเภทพริก การใส่ขี้ค้างคาวไม่ควรใส่มากกว่า ครึ่ง กำมือ เพราะถ้าใส่มาก พริกจะเหี่ยวแห้งตาย
- ระวังอย่านำขี้ค้างคาวไปใส่ผักสวนครัวประเภท ผักสาระแหน่ ผักชี ฟักทอง และมะเขือเทศ เพราะจะทำให้ผักสวนชนิดดังกล่าวแห้งตาย

1 ความคิดเห็น: